หนึ่งในคำถามที่เจอบ่อยที่สุดตั้งแต่ผมเริ่มสอนภาษาอังกฤษมาก็คือ
"ต้องเรียนนานแค่ไหนกว่าจะเก่ง?"
มันคือคำถามที่ผมอยากตอบมาก ๆ แต่ผมตอบไม่ได้จริง ๆ จนเวลาผ่านไป พยายามคิดหาคำตอบให้กับคำถามนี้ ในที่สุดก็เจอกับคำตอบที่ผมคิดว่า perfect ที่สุด
นานแค่ไหน?
'100 ชม.'
เก่งแค่ไหน?
'เก่งเท่าคุณภาพของการฝึก'
ฝึกแบบงู ๆ ปลา ๆ แล้วจะให้เก่งแบบราชสีห์
ก็คงยาก!
วันหนึ่งมี 24 ชม. แต่เราพูดภาษาอังกฤษจริง ๆ กี่ชั่วโมง
หรืออาจต้องถามว่ากี่นาที!?
ส่วนมากไม่ถึง 10 นาทีด้วยซ้ำ...
แล้วมันจะต้องใช้เวลานานเท่าไหนกันละ กว่าจะฟังครบ 100 กว่าจะพูดครบ 100 อีก?
คำถามนี้คุณต้องตอบเอง!
เพราะคงไม่มีใครไปบังคับให้คุณพูดภาษาอังกฤษออกมาได้ ถ้าสมองไม่สั่งการให้ปากพูดเอง
มันอยู่ที่ใครขยันมากกว่ากัน
ใครครบ 100 ชม.ก่อนก็เก่งก่อน
บางคนใช้เวลา 1 อาทิตย์ (บ้าคลั่งมาก)
บางคน 1 เดือน (มีวินัยดี)
บางคนใช้เวลาเป็นปีก็ยังไม่ครบ 100!
(เหมือนที่คนชอบพูดว่า เรียนอังกฤษเป็น 10 ปีก็ยังไม่เก่ง อยากถามว่าชั่วโมงการเรียนจริง ๆ ของคุณถึง 1 อาทิตย์หรือยัง?)
ผมมองว่าการเรียนภาษาอังกฤษเหมือนกับการปลูกต้นไม้
ต้นไม้ = สมอง
น้ำที่ใช้รดต้นไม้ = ความรู้ภาษาอังกฤษ
อยากให้ต้นไม้โตไวออกดอกสวยงาม ก็ต้องรดน้ำทุกวัน
เหมือนการเรียนภาษาที่ต้องฝึกทุกวัน
ไม่ใช่ว่ามาอัด ๆ เอาช่วงใกล้จะสอบ หรือใกล้จะสัมภาษณ์งาน เพราะต่อให้อ่านหนังสือแกรมมาร์จนจบในวันเดียว ท่องคำศัพท์ 1000 คำในหนึ่งวัน มันก็จำไม่ได้อยู่ดี
เหมือนต้นไม้ที่ต่อให้เรารดน้ำจนน้ำท่วม
ต้นไม้ก็ดูดน้ำเข้าไปได้นิดเดียวอยู่ดีจริงไหม?
และขืนเราฝืนทำแบบต่อไปเรื่อย ๆ ต้นไม้ก็คงตายก่อนจะโต!
สิ่งที่ควรทำคือค่อย ๆ เรียนกันไปวันละนิด
ถ้าจะให้ดีก็ควรแบ่งเวลารดเช้าเย็นด้วย
เช่นเดียวกัน เรียนภาษาอังกฤษก็ต้องแบ่งเวลาฝึก
- เช้าอาจฝึก Listening
- เย็นอาจฝึก speaking
- ก่อนนอนก็ทบทวน vocabulary นิดหน่อย
แล้วถ้าใครมัวแต่มานั่งจ้องอยู่ทุกวันว่าเมื่อไหร่เจ้าต้นไม้จะโต
มันก็คงโตยาก!
เหมือนที่ฝรั่งเขาบอกว่า A watched pot never boils! (หม้อต้มน้ำที่เรายืนจ้องอยู่มันไม่เดือดซะทีหรอก)
ยิ่งจ้องมันก็ยิ่งเหมือนจะใช้เวลานานกว่าเดิม! (ไม่เชื่อลองดู)
เปรียบเหมือนเหมือนคนที่เพิ่งเรียนอังกฤษได้สองสามชม. (อาจเรียนมา 2 อาทิตย์ แต่ผมขอนับเป็นชม.จริงที่เรียน) แล้วบอกว่าตัวเองไม่เก่งสักที
คิดแบบนั้นการเรียนภาษาก็คงหมดสนุก
ใจเย็น ๆ หมั่นรดน้ำ (ฝึกฝนภาษาอังกฤษ) ทุกวัน แล้วอีกสักสองสามอาทิตย์ค่อยกลับมาดู แล้วจะพบว่าต้นไม้ (ความรู้ภาษาอังกฤษ) โตเยอะกว่าเดิมมาก ๆ (และเราจะไม่รู้สึกกดดันด้วย)
และเหมือนการปลูกต้นไม้เลย เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเราก็อาจจะมีบ้างที่ต้องพรวนดิน
เปรียบเหมือนการขุดความรู้เดิมมาทบทวน
ประโยชน์ของการพรวนดินคือทำให้ดินโปร่ง
มีช่องว่างในดินเพิ่มขึ้น มีการระบายน้ำดีทำให้รากพืชสามารถเจริญแผ่ขยายไปหาน้ำได้ดีขึ้น!
(ผมอาจไม่ใช่นักพฤกษศาสตร์ แต่ทุกอย่างมีในกูเกิ้ล)
การพรวนดินก็เปรียบเทียบเหมือน 'การทบทวนความรู้เก่า' ซึ่งจะช่วยทำให้สมองรับรู้ความรู้ใหม่ ๆ ได้ดีขึ้นนั่นเอง
เพราะความรู้แต่ละอย่างมันเชื่อมต่อกัน
เราอาจต้องเรียนเรื่องคำนามก่อน ถึงจะเข้าใจเรื่องสรรพนาม
(ขอโทษที่พูดเรื่องแกรมมาร์ แต่อยากให้เห็นภาพ)
ถ้าความรู้เดิมมันเลือนลาง สมองก็รับความรู้ใหม่ ๆ ได้ยาก!
เหมือนเวลาที่ดินแข็ง น้ำ (ที่เปรียบเสมือนความรู้) คงก็ไปไม่ถึงราก
ความรู้ใหม่ไปไม่ถึงสมอง เพราะความรู้เก่ามันเลือนลางเหลือเกิน
และที่สำคัญที่สุด ในแต่ละครั้งที่เรารดน้ำให้ต้นไม้ ก็ใช่ว่ารากจะดูดเอาน้ำทั้งหมด!
มันก็มีน้ำที่ระเหยออกไปบ้าง
เหมือนกับความรู้ที่แม้เราหมั่นเติมให้สมองสักเท่าไหร่ มันก็มีบ้างที่ต้องลืมไป
เป็นเรื่องธรรมชาติ อย่าไปกังวล
"การลืมก็เป็นอีกหนึ่งกระบวนการในการจำ"
หวังว่าที่ผมพูดมามันจะพอทำให้เพื่อน ๆ ขบคิดอะไรได้บ้าง ว่าที่ผ่านมาเราเรียนภาษาอังกฤษแบบไหน
สู้ ๆ ครับ เป็นกำลังใจให้
ไม่จำเป็นต้องรู้หมดทุกอย่างในวันนี้ รู้มากขึ้นกว่าเมื่อวานก็พอ
สำคัญที่สุดคือต้องรู้มากขึ้นทุกวัน
ทุกวันจริง ๆ ไม่ได้ล้อเล่น!!
รู้ภาษาอังกฤษมากขึ้นทุกวัน (โดยไม่เสียตังค์) ที่ www.facebook.com/MyFathersAnEnglishMan/ (Page: พ่อผมเป็นคนอังกฤษ)
JGC.