วันนี้ ผมอยากจะเขียน เบา ๆ สมอง เกี่ยวกับส่วนหนึ่งชีวิตของวิศวกรโยธาสนาม หรือที่เรียก Site Eng.... วัน ๆ อยู่หน้างาน เขาได้ทำอะไรกันบ้าง... และที่ผมจะเขียนต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งเล็ก ๆ ของชีวิตวิศวกรโยธาหน้างานก่อสร้าง ส่วนหนึ่งที่... เอ่อ... ถ้าโชคดีถึงจะได้ทำนะครับ
วันที่ 6 กันยายน 2555 ผมมีงานเทคอนกรีตฐานรากถังน้ำใต้ดิน 800 ลบ.ม. ซึ่งผมได้ลงไปตรวจการเสริมเหล็กด้วยตัวเองครบทุกจุดแล้วในวันที่ 5 ก.ย. 2555 และทุกอย่างถูกต้อง (ต้องถูกต้องสิครับ ผมออกแบบเอง และคุมการวางเหล็กเองเกือบ 80% มีแต่เรื่อง Bar Cut นี่แหละที่ให้น้องภัทรช่วยทำให้แล้วผมก็เอามาปรับแก้อีกที)


นี่ึคือวิศวกรของเรา น้องภัทร Man of the Match ในวันนี้ สวมเสื้อกันฝน (จริง ๆ เอาไว้ป้องกันเสื้อเปื้อนคอนกรีต) หลังตรวจแบบ , เหล็ก (ผมให้ตรวจทวนอีกรอบ เมื่อวานผมตรวจเอง วันนี้ให้น้องภัทรเป็นผู้ตรวจซ้ำทั้งหมดอีกครั้ง) , ระดับเท , ความพร้อมของอุปกรณ์ เครื่องจี้ สามเหลี่ยม ฯลฯ อื่น ๆ
เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ก็พร้อมที่จะลุยแล้วล่ะครับ

มะ ดูชัด ๆ กันอีกรอบ น้องภัทร วิศวกรโยธา Man Of The Match พร้อมเสื้อกันเปื้อนและรองเท้าบู๊ตป้องกันขาทั้งท่อน (กางเกงของน้องเค้าตัวเดียว ซื้อของผมได้เป็นสิบตัวเลยนะ ฮ่าๆๆ เลยต้องรักษากันหน่อย) จริง ๆ แล้วรูปนี้เพิ่งยกเครื่องจี้ช่วยคนงานเสร็จนะเนี้ย

และคอนกรีตก็มา... ซึ่งผมคอยดูภาพรวมและสั่งการอยู่ด้านบนบ่อ

วิศวกรของเรามีการแตะ ๆ ท่อลำเลียงคอนกรีตบ้าง ช่วยคนงานนิดหน่อย

แตะไปแตะมาชักมันส์

ตามดูความเรียบร้อยของการเท และความต่อเนื่องตอนจี้คอนกรีต

เมื่อคนงานจี้คอนกรีตตามไม่ทัน (ทั้ง ๆ ที่เครื่องจี้มี 2 ตัวนะ) คนงานบางส่วนต้องไปคอยดูแลเศษคอนกรีตที่จะหล่นใส่พื้นที่โรงงาน (โรงงานนี้ระเบียบจัดมาก) และคนงานบางคนไปต่อไม่ไหวแล้ว... แต่งานต้องเดินต่อไป วิศวกรของเราจึงลงลุยเองครับงานนี้ ไม่งั้นไม่เสร็จ



จุดแคบ จุดสุ่มเสียง ก็ไม่ให้คลาดสายตา

จัดเต็มครับ เลอะเป็นเลอะ....
แล้วคนถ่ายรูปล่ะ (ผมเอง)... วิศวกรโครงการ + ผู้จัดการโครงการ + เสมียน + จัดซื้อ + ฯลฯ ทำอะไรล่ะนอกจากถ่ายรูป....
ดูรูปข้างล่างเอาเองครับ

ก่อนเทผมก็ยกของ แบกแบบ ผูกเหล็ก นั่นและครับ... พอเริ่มเทผมก็สั่งการต่าง ๆ ควบคุมความเป็นไปจากปากบ่อ...
โดยรวมแล้ว ทั้งหมดที่ผมมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้เป็นสิ่งที่ผมเคยทำมาแล้วเหมือนกันตอนเรียนจบใหม่ ๆ เป็นวิศวกรน้องใหม่ของโลกใบนี้... แม้พวกเราจะเรียนตัวเลข คำนวณ ออกแบบ ได้เก่งกาจแค่ไหนในสมัยเรียนก็ตาม แต่ถ้าเราได้ลงมือสัมผัสงานก่อสร้างด้วยตัวเองทุกขั้นตอน (ผมลงผูกเหล็ก ตอกตะปูไม้แบบ จี้คอนกรีตด้วยตัวเอง) มันก็จะทำให้เรารู้ลึกซึ้งกับงานก่อสร้างได้มากขึ้นกว่าตัวหนังสือในตำราแน่นอนครับ... คราวนี้เราจะไปคุมงาน สั่งลูกน้อง หรือด่าลูกน้องได้เต็มปากแล้วครับ เพราะเราลองมาหมดแล้ว (ผมยังเคยตำหนิคนงานเรื่องผูกเหล็กช้าเป็นเต่า มันบอกว่าเร็วสุด ๆ แล้ว เหล็กมันจัดยาก เสียบยาก ผมบอกเลยว่าเอาคีมมา จะทำให้ดู... สรุปแล้ว ผมไวกว่าคนงานอีกแนะ!?)
ผมมักพูดไว้เสมอว่า ตำราห้ามทิ้ง เราต้องแน่นหลักวิศวกรรม เพราะเราคือวิศวกร ไม่ใช่คนคุมงานก่อสร้างธรรมดา ๆ เราต้องแก้ปัญหาในสิ่งที่คนอื่นแก้ไม่ได้ เพราะเรารู้ว่าหลักช่างคืออะไร ... และหากเราได้ทำงานคลุกอยู่กับหน้างานตลอด (เหมือนผม) เราก็ต้องรู้ใจเขาใจเรากับลูกน้อง คนงาน... อะไรยากอะไรง่ายสำหรับคนงาน เราควรรู้วิธี ดึงเอ็น ดิ่ง ค้ำยัน ฯลฯ อย่างไร ยิ่งทำเองได้ยิ่งแจ๋ว พูดง่าย ๆ ครับ อยู่หน้าสนามต้องครบเครื่อง อาวุธรอบกาย 108 เล่มเกวียน ถึงจะฝ่าฟันงานก่อสร้าง(อันมีปัญหาล้านแปดให้เราแก้อยู่ทุกวัน)ไปได้ครับ
หมายเหตุ : ความเห็นของผมในบทความนี้ อาจไม่ถูกต้องทั้งหมดและอาจจะต่างจากบางท่าน ซึ่งต่างคนต่างมีวิธีทำงานของตัวเองที่แตกต่างกันไป... สามารถร่วมแชร์กันได้นะครับ